ปลุกพลังแห่งผู้นำ

คุณเป็นนักฟังแบบไหนกันแน่เนี่ย?

Rating:

ผมเคยบอก และเน้นในหลายๆ บทความที่ผ่านมาแล้วว่า “การฟังให้เยอะ” เป็นคุณสมบัติแรกๆ ที่สำคัญที่สุดของผู้นำ ผู้ที่ไม่ฟังให้มาก เน้นพูดมากกว่า ยากมากที่จะมีภาวะผู้นำที่แท้จริง และยากมากที่จะได้รับการยอมรับจากผู้อื่น แต่ก็มีปัญหาโลกแตกอีกว่า “เราเป็นนักฟังแบบไหน?” การได้รู้ว่าตัวเราเองเป็นนักฟังประเภทไหนนั้น สำคัญมาก เพราะหากเราไม่รู้ว่าเราเป็นนักฟังแบบไหน ก็ยากที่จะปรับปรุงการฟังของเราให้สอดคล้องกับตัวเราเองได้ 

ในบทความนี้ผมจึงได้นำ การจัดหมวดหมู่นักฟัง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน โดยผมจะนำมาจากหนังสือ “The Art of Manging People” โดย ฟิลลิป ฮันเซเกอร์ และ แอนโทนี อเลสซานดรา ดังนี้

   1. นักไม่ฟัง 

            ชื่อก็บอกตรงตัวอยู่แล้ว ว่า ไม่ค่อยจะตั้งใจฟังผู้อื่นมากเท่าไหร่  และที่น่าใจหายก็คือ ผู้นำ หรือผู้บริหารที่มีตำแหน่งส่วนมาก จะเป็นนักฟังแบบนี้ซ่ะมากเลยทีเดียว ผู้ฟังแบบนี้ต้องการแค่รู้สึกดีกับตัวตัวเองในการพูดสนทนาเท่านั้นครับ สังเกตุได้ว่านักฟังประเภทนี้ มักจะพูดทะลุกลางปล้อง พูดแทรก ชอบเปลี่ยนหัวข้อ เปลี่ยนเรื่องการคุยสนทนา ชอบเปลี่ยนหัวข้อ และเรื่องที่ตนเองสนใจเท่านั้น หนักไปกว่านั้นหากเรื่องที่กำลังประชุมหรือสนทนาอยู่ ไม่เกี่ยวกับตนเอง หรือไม่มีประโยชน์​กับตนเองก็จะเดินออกไปเฉยๆ เลยก็มี  โดยสังเกตได้ว่า หากผู้นำ หรือหัวหน้างานมีตำแหน่งที่ใหญ่โต อยู่มานาน หรือหวงทะนงในอำนาจมากเท่าไหร่ ก็จะเป็นนักฟังประเภทนี้มากขึ้นเท่านั้น  ซึ่งดูไม่ดีเลย นักฟังประเภทนี้จะไม่ค่อยพัฒนา ปรุบปรุง เรียนรู้มากเท่าไหร่ เพราะคิดว่าตนเองรู้อยู่แล้ว 

 2. นักแสร้งฟังไปงั้นๆ

            มีความตั้งใจฟัง เพียงส่วนหนึ่ง หรือเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นครับ นักฟังประเภทนี้อยู่ก็จะหัวเราะ หรือพูดเรื่องไร้สาระออกมาระหว่างทำการสนทนา หรือประชุมกันอยู่ เพราะเขาไม่ได้มีส่วนรวมในการฟังอย่างจริงใจ เขาจะฟังเฉพาะเรื่องที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของเขาเท่านั้น นักฟังประเภทนี้มักจะแสดงกริยา พยักหน้า เออๆ ออๆ แทรกอยู่บ่อยๆ  และเห็นด้วยกับการสนทนาไปงั้นๆ ไม่สนใจ
            แต่หากเป็นเรื่องที่น่าสนใจ นักฟังประเภทนี้จะดึงตัวเองกลับมาสู่การสนทนาอย่างกระทันหันเลยทีเดียว เช่นเรื่อง ปรับเงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น การปรับตำแหน่ง การปรับเปลี่ยนตำแหน่ง โบนัส รายได้พิเศษ เป็นต้น  และมักจะตีความผิดจากการสนทนาบ่อยๆ เพราะการไม่ตั้งใจฟังนั่นเอง คุณเป็นนักฟังแบบนี้ไหมล่ะ?

3. นักฟังเพื่อหวังผล

            จากชื่อก็บอกแล้วว่า นักฟังประเภทนี้ จะฟัง ตั้งใจฟังเฉพาะเรื่องที่เฉพาะเรื่องที่มีประโยชน์ต่อตัวเขาเองเท่านั้น และจะแสดงความคิดเห็นออกมาเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองคิดเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจ ในเจตนาของผู้พูดในวงสนทนาเลย และนักฟังประเภทนี้จะเอาเวลาในการฟังของเขาส่วนใหญ่ ให้กับข้อมูล และเรื่องที่จำเป็นต่อตัวเขาเท่านั้น นักฟังประเภทนี้จึงไม่ค่อยทำเพื่อผู้อื่น มีความทะเยอทะยานสูงในทางที่ผิด  เป็นประเภทของนักฟัง ที่ไม่ส่งผลดีกับตัวเองมากนัก เพราะสังคมไม่ค่อยต้อนรับ

4. นักฟังผู้สร้างสรรค์

             เป็นนักฟัง ที่เหมาะกับภาพลักษณ์ของผู้นำ และเป็นประเภทของนักฟังที่ดีที่สุดใน 4 ประเภทนักฟัง เป็นนักฟังที่ตั้งใจฟัง พวกเขาให้ความเคารพกับผู้พูด รับฟังอย่างตั้งใจ จริงใจ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ที่พูดอยู่ เขาจะมีส่วนร่วมทั้งหมดในการสังเกตุภาษากายของผู้พูด มองหน้า ทุกเรื่องที่ผู้พูดพูด นักฟังประเภทนี้จะรับฟังอย่างตั้งใจ โดยนักฟังประเภทนี้ จะสังเกตผู้ฟัง ถึงความสูงต่ำของเสียงผู้พูด เลือกใช้ถ้อยคำของตนให้เหมาะสมกับผู้พูดแต่ล่ะคน และคิดก่อนที่จะพูดเสมอ ไม่พูดตอบไปเรื่อยเปื่อยโดยเด็ดขาด 
              ที่สำคัญนักฟังประเภทนี้ จะมีการตอบโต้ ตอบรับผู้พูดโดยใช้ความคิด โดยเขาจะตอบโต้ ตอบกลับโดยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ได้นึกถึงแต่ตัวเอง เขาจะคอยส่งเสริมผู้พูดเสมอ ทำให้ผู้พูดรู้สึกสบายใจ ไม่รู้สึกกดดัน  ดังนั้นด้วยการที่นักฟัง ประเภทนี้เป็นนักฟังที่ดี และเปิดโอกาสให้ผู้พูดเสมอความคิดเห็นอยู่เสมอ  จึงมักจะพบไอเดีย แนวคิดที่ดี อันสร้างสรรค์ เพื่อนำมาใช้กับองค์กร กับตนเอง กับทีมงาน ได้มากที่สุดนั่นเองครับ

          เป็นไงครับ สำหรับประเภทของนักฟังทั้ง 4 ประเภท ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ประเภทของนักฟังที่ 4. นักฟังผู้สร้างสรรค์ เป็นนักฟังที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ว่า หากคุณประเมินแล้ว คุณอยู่ในประเภทนักฟังประเภทที่ 1 – 3 จะเป็นประเภทที่ 4 ไม่ได้ ทุกคนสามารถเป็นได้ เพียงแต่คุณต้องเปิดใจตัวเองให้กว้าง และยอมรับว่า คุณเป็นนักฟังประเภทไหน แล้วค่อยๆ ปรับตัวเองสู่ประเภทที่ 4  แต่หากคุณ ยังไม่เปิดใจ ยังไม่ยอมรับว่า คุณอยู่ในประเภทนักฟังแบบไหน  คุณก็ยากที่จะเป็นนักฟังประเภทที่ 4 ได้

          ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับคุณตัดสินใจครับ ว่าอย่างจะเป็นนักฟังแบบไหน

Tags: , ,

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

*