ปลุกพลังแห่งผู้นำ

การใช้พระเดช พระคุณ ในการทำงานของผู้นำ ควรลืมไปได้แล้ว

Rating:

  ” คุณต้องทำงานนี้ให้ฉันให้เสร็จน่ะ”  ” คุณต้องทำตามวิธีที่ผมให้นี่ ถึงจะสำเร็จ ” ” หากคุณไม่ทำงานตอนนี้จะเสร็จทันได้ยังไง”

คุณคงเคยได้ยินใช่ไหม  หรือคุณอาจจะใช้ในการทำงานของคุณในฐานะหัวหน้า ที่สั่งการพนักงานให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ การสั่งการโดยใช้ความต้องการของตนเองเป็นหลัก เพื่อให้ตรงตามความตั้งใจของตนเอง เรียกว่าการควบคุมการทำงานโดยใช้ “พระเดช พระคุณ ” ในการปกครอง

การที่หัวหน้างานใช้ ” พระเดช พระคุณ “ ในการปกครองหรือสั่งการ มีแต่จะสร้างความหวาดกลัว การต่อต้าน และความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับพนักงาน หรือลูกน้องของคุณ ผมไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นลูกน้องของคุณเพียงอย่างเดียว คุณลองใช้การสั่งการ แบบพระเดช พระคุณ สั่งให้เพื่อนของคุณทำอย่างโน้น อย่างนี้ ตามเวลา ตามความต้องการของคุณดูสิ ว่าเขาเต็มใจแค่ไหน เป็นคุณคุณก็ไม่ชอบถูกไหมครับ

การที่พนักงานของคุณจะทำงานได้ดีนั้น คุณต้องให้พนักงานของคุณ เกิดอาการ “อยากทำ” ไม่ใช่ “จำเป็นต้องทำ” เพราะมันจะเกิดแรงจูงใจเกิดขึ้นภายในใจของพนักงานได้มากกว่า ประสิทธิภาพ คุณภาพของงานก็ดีกว่าด้วย

การใช้วาจาที่เน้นเสียงในการสั่งการ การข่มขู่ การพูดจาดูหมิ่น  การใช้อำนาจที่ตนมีตามตำแหน่ง ในการควบคุม หรือดูแล ผู้ใต้บังคับบัญชา จึงไม่ถือเป็นหลักการของผู้นำ ในปัจจุบันใช้  คุณควรจะเปลี่ยนจากการใช้ พระเดช พระคุณ เป็นการทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” หรือ การให้ความช่วยเหลือ แนะนำ จะดีกว่าเป็นไหนๆ

แล้ววิธีการที่จะเปลี่ยนบทบาทการปกครอง จาก การใช้พระเดช พระคุณ เป็น บทบาทของพี่เลี้ยง หรือผู้ให้ความช่วยเหลือนั้น จะทำอย่างไร? บทความนี้ผมมีวิธีที่คุณจะแสดงบทบาทของพี่เลี้ยงมาฝากรับรอง ทำได้ง่ายๆ แต่คุณต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนด้วย

 

1. คุณเพียงแค่บอกหน้าที่ที่เขาต้องทำในงานนั้น และผลลัพธ์ ที่คุณต้องการแค่นั้น  

อาจจะยากหน่อยสำหรับผู้บริหารบางท่าน ทำไมหรือครับ ก็เป็นการปล่อยอิสระความคิดของพนักงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณไงครับ คุณแค่บอกผลลัพธ์ ที่คุณต้องการจากงานนั้นพอ บอกเวลาที่คุณต้องการในงานชิ้นนั้นๆ ส่วนขบวนการต่างๆ ในการก่อให้เกิดผลลัพธ์ของงานนั้นที่คุณสั่ง  คุณไม่ต้องไปยุ่งเลยปล่อยให้เขาทำไป  การที่คุณในฐานะหัวหน้าเข้าไปยุ่ง ในขั้นตอน และขบวนการของเขา คุณกำลังเขาควบคุมเขา ลูกน้องคุณจะไม่มีอิสระในความคิด  คุณแค่บอกว่า ” หากมีปัญหาอะไรให้มาสอบถามได้น่ะครับ ”  แค่นั้นพอ ส่วนคุณก็เอาเวลาที่เหลือนั้นไปทำงานที่สำคัญกว่า ในมุมกว้างต่อไป  เห็นไหมง่ายกว่าเยอะ

 

2. ให้คุณถอยออกมาห่างๆ และให้คนอื่น ทำหน้าที่แทน

เคยไหมครับ หากมีการประชุมขึ้นมาในห้อง และคุณสั่งการงานต่างๆ ลูกน้องจะรู้สึกเกร็ง และเกิดอาการอึ้งคิดไม่ออก  เป็นธรรมดาของผู้อยู่ใต้การบังคับบัญชาที่ต้องประหม่า และคิดงานไม่ค่อยออก หากมีผู้บริหารหรือหัวหน้างานอยู่ด้วย ลองเปลี่ยแปลงใหม่ครับ คุณอาจจะบอกถึงความต้องการในงานที่สั่งไป ว่าต้องการแบบไหน แล้วมอบหมายให้หัวหน้างานระดับรองจากคุณ พนักงานอาวุโส หรือพนักงานด้วยกันทำแทน โดยบุคคลเหล่านี้ ที่ทำหน้าที่แทนคุณ คุณต้องมอบหมายอำนาจ และการดูแลให้เขา  การที่พนักงานทั่วไป ได้ทำงานกับหัวหน้า หรือผู้บริหารระดับรองลงไป จะลดความประหม่าลงไปได้มาก  ทั้งนี้อาจจะมีการสับเปลี่ยนผู้ดูแล ในแต่ละโปรเจคก็ได้  คุณแค่มีหน้าที่ติดตามความเรียบร้อยของาน ก็พอ   การทำเช่นนี้จะเป็ฯการทำให้พนักงาน รู้สึกถึงความรับผิดชอบ ในหน้าที่ของตนมากขึ้น โดยไม่ต้องพะวงหน้า พะวงหลัง   และคุณก็มีเวลามากขึ้นด้วยในการทำงานชิ้นสำคัญอื่นๆ ต่อไป

 

อย่าลืมน่ะครับว่า คำว่า ผู้นำ จะเกิดขึ้นในใจได้คุณต้องเข้าใจในความคิด อารมณ์ ความรู้สึก คุณต้องให้คุณค่ากับเขาอย่างจริงใจ  และผมขอฝากไว้อีกอย่างหนึ่งว่า  ” คุณอาจจะทำให้คนวิ่งได้ก็จริง  แต่คุณไม่มีทางที่จะบังคับให้เขาวิ่งได้เร็วขึ้นกว่าเดิมได้ ” 

     

 

 

Tags: , , , ,

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

*