ยุคสมัยใหม่นี้ คุณอย่าบอกน่ะว่าคุณไม่รู้จัก Netflix ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจบริการสตรีมมิ่งรายการทางอินเตอร์เน็ต และผลิตรายทีวี ภาพยนตร์ฉายผ่านสตรีมมิ่งทั่วโลก อีกทั้งในปี 2020 Netflix ยังเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก ( จากการจัดอันดับของ The world’s Most Valuable Brands 2020 โดย Forbes ) ด้วยมูลค่าแบรนด์ถึง 26,700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ( ราว 8 แสนล้านบาท ) แน่นอนเหตุของการเติบโตอย่างรวดเร็วมาจาก ธุรกิจที่ Netflix ทำอยู่ที่สอดคล้องกับยุคสมัยของอินเตอร์เน็ต รวมถึงการผลิตรายการ และภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมเพื่อป้อนใน สตรีมมิ่งของตนเอง แต่ที่มากไปกว่านั้น ปัจจัยที่ส่งผลให้ Netflix เติบโตอย่างสุดกู่ก็คือ ” นโยบาย การบริหารองค์กร และกฎที่แหวกแนว ทะลุกรอบ ที่เปิดความคิดอย่างอิสระ จนทำให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่ และเป็นองค์กรที่ คนอยากทำงานด้วยมากที่สุดในโลก แซงบริษัทอย่าง Google ,Facebook หรือแม้กระทั่ง Walt Disney ชนิดไม่เห็นฝุ่น คุณสนใจแล้วใช่ไหมว่า เขาบริหารองค์กรกันอย่างไร
วันนี้ผมจะนำคุณไปเรียนรู้วิธีการบริหารองค์กร รวมถึงภาวะผู้นำ ที่ Netflix ใช้เพื่อที่คุณจะสามารถนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับองค์กรของคุณ หรือแม้กระทั่งการนำมาปรับภาวะผู้นำ ปรับการบริหารของคุณให้สอดคล้องกับยุคสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
การบริหารคน และองค์กรของ Netflix ให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กรมากเป็นอันดับหนึ่ง สนับสนุนให้พนักงานปลดปล่อยพลังแห่งความคิดออกมา ฝึกตัดสินใจด้วยตนเองด้วยความมีอิสระ. ซึ่งทำให้คนทำงานอย่างมีความสุข พนักงานมีแรงกระตุ้นในการทำงาน ซึ่งการปลดปล่อยดังกล่าว ทำให้พนักงานของ Netflix ล้วนเต็มไปด้วยพนักงานที่มีประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยคนเก่ง ซึ่ง Netflix มีการบริหารคน และองค์กรที่มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ ( ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ Netflix กฎที่นี่ คือ ไม่มีกฎ )
1. Netflix สร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่มีแต่คนที่เก่ง
จะมุ่งเน้นในการสร้างคนเก่ง และเก็บรักษาคนเก่งที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทุ่มเท มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีแต่พนักงานที่มีความคิดในแง่บวก ชอบการแก้ไขปัญหา ไม่เฉื่อยแฉะ ไม่งี่เง่าเต่าตุ่น. Active ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าพอใช้ มีแต่คำว่ายอดเยี่ยมเท่านั้น เพราะ Netflix เชื่อว่า การจ้างพนักงานที่สะเพร่าเผอเรอ ไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจ ขาดแรงบันดาลใจทีมีอยู่เพียงแค่ 1 – 2 คน จะฉุดให้ผลงานของทั้งทีม ทั้งองค์กรตกต่ำลงไปได้ดั้งนั้น หากพบว่าพนักงานมีการทำงานที่ไม่มีผลงาน งี่เง่า ทาง Netflix จะทำการเลิกจ้างทันทีด้วยเงินเลิกจ้างที่แสนแพง. เพราะ Netflix นั้นมีความเชื่อว่า การที่องค์กรมีแต่พนักงานที่เก่งๆ จะแทบไม่ต้องควบคุมอะไรมากเลย ยิ่งเก่งมากก็ยิ่งให้อิสระในการตัดสินใจได้มาก
2. Netflix สร้างวัฒนธรรมของการให้ฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา
เมื่อมีแต่คนเก่งในองค์กรแล้ว จะสามารถเรียนรู้กันได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิด ทัศนคติ วิธีการทำงาน แต่หากคนเก่งในองค์กรไม่มีการฟีดแบ็ก ต่อหน้าคนอย่างตรงไปตรงมาก ก็จะยิ่งพัฒนาได้ยาก การฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา จะยิ่งพัฒนาผลงานของทีม และผลงานเฉพาะบุคคลให้โดดเด่นมากย่ิงขึ้น ฉะนั้นคนเก่งๆ ใน Netflix จะกล้าให้ความคิดเห็น ฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีกำแพงด้านตำแหน่งมาเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้การกำกับดูแล และการควบคุมยิ่งน้อยลงไปอีก มีอิสระมากขึ้น
3. ลดการควบคุม
เมื่อ Netflix มีแต่คนเก่ง และแต่ละคนมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ฟีดแบ็ก จึงทำให้ลดขั้นตอนในเรื่องการอนุมัติค่าเดินทาง. วันลาพักร้อน เรื่องค่าใช้จ่าย และอาจฉีกทิ้งไปได้เลย เพราะเมื่อในองค์กรมีแต่คนเก่งๆ จะเกิดความรับผิดชอบขึ้นโดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังมีการฟีดแบ็กกันได้อย่างอิสระ ทำให้เกิดภาวะผู้นำของระดับหัวหน้าในองค์กรในการยึดหลักนำด้วย บริบท ไม่ใช่นำด้วยการควบคุมสั่งการ ฉะนั้นสังคมแห่ง Netflix จึงเป็นสังคมแห่งการทำงาน และภาวะผู้นำที่ไม่ใช้การเลียแข้ง เลียขาเจ้านาย. จะเป็นสังคมที่เกิดจากผลงานที่แท้จริง สังคมแห่งผู้นำด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ แค่เริ่มต้นเกริ่นในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรด้านบริหาร และภาวะผู้นำของ Netflix คุณก็ทึ่งแล้วใช้ไหม ในบทความต่อไป ผมจะเจาะลึกองค์ประกอบในแต่ล่ะข้อว่าเป็นอย่างไร รับรองว่าหากคุณนำไปปรับใช้แล้ว จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน