คุณเคยบ่น หรือเคยคิดกับคนอื่นที่ทำให้คุณไม่พอใจ ไหมว่า ” ทำไมคุณถึงเป็นคนแบบนี้ ไม่ดีเลย” “ทำไมคุณไม่เคยจะฟังผมอธิบายบ้าง” “ทำไม ไม่มีใครเข้าใจฉันเลย” ตลอดชีวิตคุณ คุณบ่นคำเหล่านี้ไปกี่รอบครับ นับไม่ถ้วนใช่ไหม ผมก็เคย และบ่นแทบจะทุกวัน เพราะไม่มีใครเข้าใจความตั้งใจของเราเลย เหมือนเราทำงาน ทำอยู่ฝ่ายเดียว ไม่มีใครเข้าใจเลย. แต่เชื่อไหมครับว่า หากคุณที่กำลังคิดแบบนี้อยู่ คุณกำลังคิดผิด และความคิดที่ต้องการให้คนอื่นมาเข้าใจคุณก่อนนี่แหละ ครับ ที่ทำให้ชีวิตคุณยาก และเกิดความขัดแย้งด้านลบ อันจะกระทบในการสื่อสาร และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ตามหลักการสื่อสารที่ถูกต้องแล้ว. หลักแห่งการทำความเข้าใจผู้อื่นก่อน นั้น เป็นหลักแห่งการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด การที่คนอื่นสื่อสาร หรือแสดงท่าทีอะไรกับคุณ และคุณพยายามที่จะทำความเข้าใจเขาก่อน จะเกิดการเติมเต็มในจิตใจซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่เกิดความเครียด ไม่มีแรงต้านด้านจิตใจ. กลไกในการทำความเข้าใจจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะคุณจะรู้ว่าเจตนาของเขา ในการแสดงออกกับคุณเพราะอะไร คุณจะเข้าใจเหตุผล และทุกอย่างจะจบลงด้วยดี ด้วยความเข้าใจ และด้วยความสุข
แต่ในสภาวะสังคมที่เร่งรีบ ที่เอาตัวรอดในปัจจุบัน ทำให้คนเรา ทำสลับกัน แทนที่จะทำความเข้าใจคนอื่นก่อน. กลับต้องการให้คนอื่นมาเข้าใจตน ทำตามที่ตนต้องการ. และไม่ยอมรับฟังเหตุผลแห่งการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง จึงทำให้เกิดเป็นความขัดแย้ง เมื่อทำไปบ่อยครั้งเข้า จะทำให้ตัวเองเป็นคนเห็นแก่ตัว เกิดอัตตาขึ้นในใจ สำคัญตนถูกตลอดเวลา. ทำให้จิตใจหม่นหมอง ไม่มีความสุข สุดท้ายก็แพ้ภัยตนเอง ความสัมพันธ์เกิดเป็นตำหนิในใจทั้งในใจตนเอง และในใจของผู้ที่สื่อสารด้วย ยากที่จะคืนกลับมา
ยกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่งก็แล้วกัน สมมุติลูกน้องของคุณเป็นคนที่ไม่ค่อยไปทานข้าวเย็น ร่วมกับเพื่อนร่วมงานหรือผู้บริหารเลย ทั้งๆ ที่เมื่อก่อน ลูกน้องคุณคนนี้เคยให้ความร่วมมือในการไปทานข้าวเย็นกับเพื่อนๆร่วมงาน และผู้หลักผู้ใหญ่เสมอ จนทำให้เพื่อนร่วมงานต่างพากันนินทา เขาว่า ไม่ค่อยมีมนุษยสัมพันธ์ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงเองก็ไม่พอใจในการไม่ให้ความร่วมมือของลูกน้องคุณคนนี้. หากคุณทำตัว หรือมีความคิดเหมือนคนอื่น ก็อาจจะตำหนิ นินทา และคล้อยตามเพื่อนร่วมงานของลูกน้องของคุณคนนี้. ลูกน้องคนนี้ของคุณก็จะถูกเข้าใจผิดตลอดไป. หากคุณเรียกเขามาถามอย่างเปิดใจ ถึงสาเหตุที่เขาเปลี่ยนไป คุณจะเข้าใจว่า ที่เขาไม่ได้ไปทานข้าวเย็นกับเพื่อนร่วมงาน และกับผู้บริหารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ตามมารยาททางสังคม. เนื่องจากว่า. คุณแม่ของพนักงานป่วย และต้องการตนดูแล เขาจึงต้องรีบกลับบ้านหลังเลิกงาน โดยไม่ได้ไปแวะที่ไหน เพื่อมาคอยดูแลแม่ และเนื่องจากเขาไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ เขาจึงเลือกที่จะไม่จ้างคนดูแล จึงต้องดูแลแม่ด้วยตนเอง. เมื่อคุณได้รู้ความจริง จึงได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาบอกกับเพื่อนร่วมงาน และผู้บริหาร. ทุกคนจึงเข้าใจ และคอยแนะนำ คอยช่วยเหลือเขา และไม่ถูกนินทาว่าร้ายอีกเลย
และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นว่า คุณควรที่เข้าใจผู้อื่นก่อนเสมอ ไม่ว่าเขาจะประพฤติตัวเช่นไร. ต้องสอบถามทำความเข้าใจเหตุผลของเขาก่อนเสมอ เมื่อนั้นคุณจะเข้าใจโดยธรรมชาติ โดยที่คุณแทบจะไม่ต้องใช้ความพยายามเลย และผมว่า จะเหนื่อยน้อยกว่าที่คุณจะไม่พยายามเข้าใจเขา นินทาเขา ว่าเขาเสียอีกครับ.
เริ่มทำความเข้าใจคนอื่นก่อน แล้วคุณจะเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ และมีเสน่ห์ขึ้นอีกเป็นกองเลยครับ