คนเป็นผู้นำ ต้องปวดหัวเป็นธรรมดาหากลูกน้องเอาแต่ถามโน่น ถามนี่ ถามแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อย เรื่องงานพื้นฐาน แล้วคุณล่ะทำอย่างไรหากลูกน้องถาม ต่อว่ากลับไปใช่ไหมว่า “แค่นี้ต้องถามด้วยหรือ” หรือหนักกว่านั้น “แค่นี้ก็คิดเองไม่เป็นหรือ? แล้วอะไรล่ะที่จะเกิดขึ้นตามมา ลูกน้องของคุณก็น้อยใจ พาลไม่ทำงาน ไม่พอใจหัวหน้างาน สุดท้ายหนักกว่านั้นบ่อยๆ เข้าก็ลาออกไปหางานใหม่ และคุณเองในฐานะผู้นำ ก็ต้องสรรหาพนักงานใหม่ และคอยสอนงานอีก
จริงๆ แล้วการที่ลูกน้องเอาแต่สอบถาม โดยเฉพาะปัญหาของานประจำที่เขาทำอยู่นั้น มันไม่ใช่ความผิด ของใครเลย เป็นความผิดของผู้นำต่างหากที่ไม่ฝึกให้ลูกน้องคิดเองเป็น. ย้อนกลับไปน่ะครับ ว่าทำไมลูกน้องจึงคอยแต่ถามคุณ อาจจะเป็นเพราะเมื่อก่อน เมื่อลูกน้องคุณมีปัญหาอะไรก็ตามก็มาถามคุณ คุณก็ตอบวิธีการแก้ไขปัญหาให้เขาไปทุกครั้ง แก้ไขปัญหาให้เขาแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยหรือเปล่า หรืออีกประการหนึ่ง ลูกน้องของคุณได้ แก้ปัญหาตามแนวทางของเขา คือคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้ว แต่ผลที่เกิดจากการแก้ไขปัญหานั้นไม่เข้าตาคุณ ไม่ตรงใจคุณ คุณก็ตำหนิ ต่อว่าเขากลับไป จนเขาขาดความมั่นใจ. ทำให้ครั้งต่อไปเมื่อเขาเจอป้ญหา เขาก็จะคอยถามคุณอยู่เรื่อยไป เพราะกลัวถูกคุณตำหนิ เป็นต้น ลองคิดดูเหตุและผลก่อนครับว่าเกิดจากอะไร
ในฐานะผู้นำ หรือหัวหน้างาน จะต้องฝึกให้ลูกน้องคิดเองเป็น โดยบทความนี้มีประโยคทรงพลัง ประโยคหนึ่งที่คุณสามารถนำไปพูดให้ลูกน้องคิดเองเป็น ก็คือ ” แล้วคุณคิดว่า คุณจะทำอย่างไร “
การใช้ประโยคถามดังกล่าว จะใช้ในกรณีที่ลูกน้อง เข้ามาสอบถามปัญหากับเรา ให้เรารับฟังปัญหาจากเขาก่อนอย่างตั้งใจ แนะนำอย่าพูดแทรกในการบอกเล่าของลูกน้องของเราน่ะครับ หลังจากเขาพูด เล่าเรื่องราวปัญหาต่างๆ ให้เขาฟังหมดแล้ว ให้เราถามประโยคถามเขาเลยว่า “แล้วคุณคิดว่า คุณจะทำอย่างไรล่ะ” กลับไป แล้วรอฟังคำตอบจากเขา แรกๆ เขาอาจจะคิดไม่ออก ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเขากลัวว่า การเสนอแนวทางออกมานั้นอาจจะผิด หรือไม่ถูกใจคุณ ให้คุณบอกเขาไปเลยว่า ” คิดอย่างไรกับการแก้ไขปัญหานี้ พูดออกมาเลย จะผิด หรือถูกไม่ว่ากัน เรามาช่วยกันแก้ปัญหา ” เมื่อพูดประโยคนี้ออกไป ลูกน้องจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และกล้าที่จะแสดงออก
หากเราใช้ประโยคดังกล่าว บ่อยครั้งเข้า ลูกน้องก่อนที่จะนำปัญหามาปรึกษาเรา เขาจะเตรียมคำตอบ และวิธีการแก้ไขปัญหาตามแนวคิดของเขามาบอกเรา มาเสนอเรา จะไม่ทำการแก้ไขปัญหาแบบหุ้นยนต์ที่คอยรับฟังแนวทางแก้ไขปัญหาจากหัวหน้างานอย่างเดียว จำไว้น่ะครับว่า ผู้นำ คือผู้มาแก้ไขปัญหา และต้องให้ลูกน้องคิดเองเป็นด้วย การฝึกให้ลูกน้องแก้ไขปัญหา จะเป็นการลดภาระด้านงาน ด้านการแก้ไขปัญหา คุณเป็นผู้นำคุณต้องทำงานด้านการแก้ไขปัญหาที่เป็นมวลรวม และสำคัญกว่านี้ในภาพรวม ไม่ใช่ลงไปเล่นแก้ไขปัญหาในทุกๆ ปัญหาของลูกน้อง และฝึกให้ลูกน้องแก้ไขป้ญหาในงานของเขา อันนำมาซึ่งการส่งเสริมความก้าวหน้าของลูกน้องเราด้วย ในการก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำและหัวหน้างานในอนาคต รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจ และความมั่นใจให้เกิดขึ้นในตัวของลูกน้องคุณด้วย
ประโยคดังกล่าว ไม่ได้จำกัดเฉพาะใช้กับลูกน้องเราเท่านั้น สามารถใช้กับคนในครอบครัว เพื่อนๆ หรือใครก็ตามที่คุณต้องการให้เขาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ลองนำไปใช้ดูน่ะครับ