ปลุกพลังแห่งผู้นำ

หากจะเป็นผู้นำที่สุดยอด คุณต้องเริ่มด้วยนิสัยแบบนี้

Rating:

” ฉันเป็นผู้นำไม่ได้หรอก “   ” มันคงยากเกินไปหากฉันจะเป็นหัวหน้างาน ”   “หากฉันเป็นหัวหน้างาน คงจะไม่มีใครฟังฉัน”  คุณเคยคิดประโยคต่างๆ เหล่านี้ในหัวคุณบ้างหรือไม่ครับ  ประโยคเหล่านี้จะเกิดขึ้นในความคิด ส่วนมากคนที่กำลังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้างานใหม่ๆ  หรือโดนแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร ผู้จัดการก็แล้วแต่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประโยคเหล่านี้จะเกิดขึ้นในความคิด ประสานกับความกังวลว่า จะทำหน้าที่เป็นผู้นำได้หรือไม่

แต่ผมกำลังจะบอกว่า  คำว่าผู้นำ หรือหัวหน้างานนั้น ใครๆ ก็เป็นได้ครับ มันไม่เกี่ยวเลยครับว่าคุณจะจบการศึกษาสูงมากแค่ไหน  เกิดชนชั้นไหน  การเป็นผู้นำเป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ ไม่ใช่พรสวรรค์ที่คุณเกิดมาแล้ว เกิดทักษะความเป็นผู้นำเลย  มันขึ้นอยู่กับว่า คุณเริ่มต้นแนะนำตัวคุณ ปรับลักษณะนิสัยตัวคุณ ให้เป็นแบบใดต่างหากล่ะครับ

แล้วจะเริ่มต้นด้วยลักษณะพฤติกรรม หรือนิสัยแบบใดล่ะ ที่จะทำให้คนทั่วไปยอมรับคุณ นับถือถึงความเป็ผู้นำหรือหัวหน้างานของคุณ ในบทความนี้ผมจะนำพฤติกรรมเริ่มต้น 3 อย่างมาให้คุณปฏิบัติ ซึ่งหากคุณได้เริ่มด้วยนิสัย การแสดงออกแบบนี้แล้ว  คุณได้ก้าวสู่ความสำเร็จด้าน การเป็นผู้นำไปแล้วครึ่งหนึ่งทีเดียว

1. เริ่มต้นในการฝึกความเป็นผู้นำ หรือหัวหน้างานด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน

ผมขอบอกตรงนี้เลย โดยเฉพาะคนที่ไฟแรง เริ่มก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้างานใหม่ๆ อย่าเริ่มต้นด้วยความแรง เคร่งเครียดจนเกินไป หรือที่เรียกกันทั่วๆไป ว่า เก๊ก นั่นเอง วิธีการปั้นหน้าให้เกรงขามจนคนไม่กล้าเข้าหานั้น หมดสมัยไปแล้วครับ และไม่ใช่ลักษณะนิสัยของผู้นำที่ดีสักเท่าไหร่  คุณจะต้องเริ่มต้นด้วย ” ความอ่อนน้อม “  อ่อนน้อมกับใครน่ะหรือ  ก็กับทุกคนล่ะครับ ตั้งแต่แม่บ้าน จนถึงประธานบริษัทนั่นแหล่ะ  แต่ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ผมกล่าวถึง ไม่ใช่หงอไปซ่ะหมดทุกเรื่องน่ะครับ  ยกตัวอย่างครับ  หากประธานบริษัทเอ่ยปากชม การทำงานของฝ่ายคุณ แทนที่คุณจะเอาดีใส่ตัวเอง และอ้างว่าเป็นผลงานของคุณ คุณอาจจะตอบด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนว่า  ” ก็เพราะลูกน้องของผมทุกๆ คนทำงานอย่างเต็มที่ ผลงานที่ออกมา มาจากลูกน้องของผมช่วยกันครับ ”  แค่นี้ลูกน้อง หรือคนรอบข้าง ก็เกิดทัศนคติทางบวกกับคุณแล้วครับ

 

2. รับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้น

ยืดอกรับความผิดไปเลยครับ  ความเป็นผู้นำหรือหัวหน้างานเกิดจากความรับผิดชอบ กล้ารับผิดในมวลรวมแทนผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกน้อง หรือแผนกของคุณโดนตำหนิ คุณอาจจะยอมรับโดยกล่าวประโยคว่า ” มันเป็นความผิดของผมเองครับ ที่ไม่ได้ตรวจให้รอบคอบ เดี๋ยวผมกับทีมจะแก้ไขให้ครับ ”  ความเป็นผู้นำแทนที่จะโปรยความผิดไปให้ผู้อื่น ควรแก้ไขด้วยทีม  ไม่ใช่ปัดความผิด  หากคุณเป็นหัวหน้างานที่คอยโยนความผิด หรือหาแต่คนที่ผิดและลงโทษ  ลูกน้องหรือคนในแผนก จะขาดศรัทธาที่มีต่อคุณ  ยืดอกรับแทนไปเลยครับ ได้ใจไปเต็มๆ เชื่อผม

 

   3. ฝึกฝน ขัดเกลา บังคับตัวเองให้ได้ก่อนไปบังคับคนอื่น

ตรงๆ ครับไม่อ้อมค้อม ความเป็นผู้นำ หรือหัวหน้างานก่อนที่จะไปควบคุมบังคับให้ผู้อื่นทำอะไร ควรบังคับ ควบคุมตัวเองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก การที่คุณทำไม่ได้อย่างที่คุณพูด ลูกน้องจะคอยดูคุณ ทำให้ความศรัทธาในตัวคุณลดน้อยลง  คุณต้องฝึกฝนตนเอง โดยใช้หลักของความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น  ลูกน้องคุณบอกว่าทำไม่ได้หรอก  คุณก็เข้าไปทำให้เขาดูเสียเลย ว่าคุณทำได้  เน้นพัฒนาตัวคุณให้เก่งขึ้น ดีขึ้นก่อนเป็นอันดับแรกเลย เปลี่ยนตนเองก่อน แล้วค่อยไปเปลี่ยนหรือบังคับคนอื่นๆ ให้ทำตามน่ะครับ    คุณไม่จำเป็นต้องแสดงออกจนเกินงามว่าคุณเป็นหัวหน้างานที่เหมาะสม   พยายามในการควบคุมตนเอง เห็นความสำคัญของลูกน้องอย่างสม่ำเสมอ  แล้วลูกน้องคุณ คนทั่วไปรอบข้างคุณ จะมีการส่งเสริมคุณ ช่วยเหลือคุณให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดเองครับ

 

ลองนำไปใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณดูน่ะครับ หากคุณเริ่มด้วยนิสัยเหล่านี้ความสำเร็จในความเป็นผู้นำคุณ ก็จะสำเร็จไปแล้ว 60%

Tags: , , , , , , ,

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

*