คุณอาจจะพอรู้แล้วบ้างว่า การโค้ช เป็นวิธีการหนึ่งของ ผู้นำ และหัวหน้างานทั้งหลายอันขาดไม่ได้ ที่นำมาใช้กับทีมงานของตน เพื่อเป็นการกระตุ้น และตระหนักรู้ในตนเองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เขาใช้ศักยภาพที่ตนเองที่มีอยู่อย่างสูงสุด และหาทางออกของปัญหาได้ด้วยตนเอง
แต่การโค้ช จะบรรลุซึ่งประสิทธิภาพอันสูงสุดได้ ทางโค้ชชี่ ( ผู้รับการโค้ช ) หรือทีมงานของคุณที่รับการโค้ชนั้น ต้องให้ความร่วมมือ และพลิ้วไหวไปกับการโค้ชของคุณด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ คุณจำเป็นต้องทราบถึงสไตล์การโค้ช 3 ประเภทคือ
1. การยืดหยุ่น คือการปรับตัวของโค้ชให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ของผู้รับการโค้ช ( ต่อไปนี้จะเรียกว่า โค้ชชี่ ) ได้อย่างเหมาะสม ลงตัว อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เอาความคิดของโค้ชเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับอารมณ์ ความรู้สึก เรื่องราว ความคิดของโค้ชชี่ด้วยครับ
2. การเปิดกว้าง การเปิดกว้างไม่ใช่เฉพาะการเปิดเผยข้อมูล เปิดใจ เปิดความรู้สึกของโค้ชชี่เท่านั้น แต่เป็นการโค้ชที่เปิดกว้าง ที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ ว่าผู้รับการโค้ช หรือ โค้ชชี่นั้นมีความแตกต่างจากเรา ไม่เหมือนเรา และแต่ล่ะคนย่อมมีความแตกต่างกัน เป็นการที่โค้ชต้องเปิดรับตัวตนของเขา ไม่ได้เอาตัวตนของเราในฐานะของโค้ชมาเป็นที่ตั้ง เป็นมาตรฐานในการโค้ช
3. ความมั่นใจ โค้ชจะต้องมีความมั่นใจ สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น เพื่อให้โค้ชชี่ เกิดความไว้วางใจ เชื่อใจ ซึ่งเป็นหลัก เป็นพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเรา กับโค้ชชี่เลยทีเดียว และที่สำคัญตัวโค้ชเอง ต้องมีความั่นใจในศักยภาพของตนเองก่อนในการโค้ชด้วย ความมั่นใจต้องเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่ายจึงจะเกิดความลื่นไหลในการโค้ช
ในเรื่องของหลักการ แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของ “Flow” หรือภาวะความลื่นไหลนั้น โค้ช และโค้ชชี่ จะต้องมีอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องมีสติ มีสภาวะจิตใจที่สอดคล้องไปด้วยกันจึงจะมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสูงสุด โดยแนวคิด Flow หรือความลื่นไหลนี้ เป็นกระบวนการของ ดร.มิไฮล์ ซิคเซ่นมิไฮล์ยี ( Dr.Mihaly Csikszentmihalyi) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เชื้อสายฮังกาเรียน ซึ่ง ดร.มิไฮล์ ระบุว่า Flow จะต้องมีคุณลักษณดังนี้
1. กิจกรรม ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ขัดแย้ง สอดประสานกัน ไม่ทำให้งง ในภายหลัง เช่นเดียวกับหลักการโค้ช จะต้องมีเป้าหมาระหว่างโค้ช และโค้ชชี่ที่ชัดเจนเพื่อเรื่องอะไร เป้าหมายอะไรที่แน่นอน ไม่วอกแวก
2. ในเวลา หรือขณะที่ทำกิจกรรมนั้น จะต้องสามารถรับรู้ได้ทันทีว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้น ทำให้เราใกล้เป้าหมายมากขึ้น : การโค้ชก็เช่นกัน ไม่ใช่โค้ชไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้จุดจบ ไม่รู้ความเคลื่อนไหว โค้ช และโค้ชชี่จะต้องรับรู้ว่า เข้าใกล้เป้าหมายด้วยกันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ไม่รู้สึกพูดไปเรื่อยเปื่อย จบไม่ลง
3. ระดับความยากของกิจกรรมนั้น ต้องไม่ยากจนเปิดปวดหัว จนเกินความสามารถมากเกินจนทำให้รู้สึกเครียด และต้องไม่ง่ายจนเกินไปด้วย จะต้องอยู่ในระดับที่พอดี
4. เวลาทำกิจกรรมนั้น ต้องมีสมาธิจดจ่อ อยู่กับเรื่องนั้นเรื่องเดียว ไม่วอกแวก ไม่มีการทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน การเน้นสมาธิอยู่กับเรื่องเดียว หัวข้อเดียว จะมีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำหลายอย่างในคราวเดียว
5. เวลาทำกิจกรรมอะไรก็ตาม จะต้องไม่รู้สึกกังวลกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต มีความสุข มีความเต็มใจที่จะทำ
6. เราจะรู้สึกว่ากิจกรรมที่เราทำนั้นเราสามารถควบคุมได้ ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้เกิดจากความไม่เต็มใจ
7. เป็นกิจกรรมอะไรก็ตามที่เราทำ โดยไม่ต้องรู้สึกว่าต้องมานั่งห่วงโน่น ห่วงนี่ เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง ไม่ต้องมาคิดพะวงว่า คนอื่นๆนั้นจะมาคิดอะไรกับเรา กิจกรรมนั้นจะทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนั้นเลย
8. ทำกิจกรรมนั้นจนลืมเวลา เวลาถูกบิดเบือนไปหมด รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน
เมื่อเราใช้หลักการ “Flow” ความลื่นไหลนี้กับการโค้ชของเรา โค้ชชี่จะไม่รู้สึกว่าต้องใช้กำลังกาย กำลังใจมากในการโค้ช ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่รู้สึกเหนื่อย และไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักในการโค้ช ยังผลให้การโค้ชของเรา กับทีมงานประสบความสำเร็จ ผลงานออกมาดี รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีขึ้นตามมาอีกมากมาย ลองไปปรับใช้ดูน่ะครับ